วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552


ประเพณีวิ่งควาย
วิ่งควาย เป็นประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิมของจังหวัดชลบุรีมีอยู่แห่งเดียวในเมืองไทย เมื่อใกล้เทศกาลออกพรรษาครั้งใดก็แสดงว่าช่วงเวลาแห่งการไถหว่านได้ผ่านพ้นไปแล้ว ถึงเวลาที่บรรดาชาวไร่ชาวนาจะได้มีโอกาสหยุดพักผ่อน เพื่อรอคอยเวลาที่ผลผลิตจะตกดอกออกรวงและก็เป็นเวลาที่วัวควายจะได้พักเหนื่อยเสียทีหลังจากที่ถูกใช้งานมาอย่างหนัก ในวันงาน ชาวไร่ชาวนาจะหยุดงานทั้งหมดและจะตกแต่งควายของตนอย่างสวยงามด้วยผ้าแพรพรรณ และลูกปัดสีต่างๆ และนำควายมาชุมนุมกันที่ตลาด พร้อมกันนั้นก็จะนำผลิตผลของตนบรรทุกเกวียนมาขายให้ชาวบ้านร้านตลาดไปพร้อมๆ กัน เมื่อจับจ่ายขายสินค้าซื้อหาของต้องประสงค์เสร็จแล้ว ต่างคนต่างก็ถือโอกาสมาพบปะสนทนากัน บ้างก็จูงควายเข้าเที่ยวตลาดจนกลายมาเป็นการแข่งขันวิ่งควายกันขึ้น และจากการที่ชาวไร่ชาวนาต่างก็พากันตกแต่งประดับประดาควายของตนอย่างสวยงามนี่เอง ทำให้เกิดการประกวดประชันความสวยงามของควายกันขึ้น พร้อมๆ ไปกับการแข่งขันวิ่งควาย
ปัจจุบัน ประเพณีวิ่งควายในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี จะจัดในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 อำเภอบ้านบึงจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตลาดหนองเขิน อำเภอบ้านบึง จัดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 วัดดอนกลาง ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จัดวิ่งควายในวันทอดกฐินประจำปีของวัด
ในวันนี้นอกจากจะจัดให้มีการแข่งขันวิ่งควาย ประกวดความงามของควาย และประกวดสุขภาพของควายแล้วยังมีการ "สู่ขวัญควาย" หรือทำขวัญควายไปในตัวอีกด้วยแม้ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศจะหันมาใช้เครื่องจักรกลหรือที่เรียกว่าควายเหล็กช่วยผ่อนแรงในการทำนาแล้วก็ตาม แต่ชาวชลบุรีก็ยังคงอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นอันแปลกนี้อยู่ เพราะนอกจากจะเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดแล้ว ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีของชาวชลบุรีอีกด้วย


ประเพณีตักบาตรดอกไม้
ประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีที่สำคัญของอำเภอพระพุทธบาท โดยในวันเข้าพรรษาซึ่ง ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จะมีประชาชนจำนวนมากพากันไปทำบุญตัก บาตรที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร เสร็จจากการทำบุญตักบาตรใน ตอนเช้าแล้ว ก็จะพากันไปเก็บดอกไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่า "ดอกเข้าพรรษา" มี 4 สี คือ สีเหลือง สีขาว สีม่วง และสีส้ม ลักษณะคล้ายต้นกระชายหรือ ต้นขมิ้น ดอกไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นตามไหล่เขา และจะมีเฉพาะช่วงเข้าพรรษา เท่านั้น
การตักบาตรดอกไม้จะทำในตอนบ่าย ในขณะที่พระภิกษุอุ้มบาตรเดินขึ้น บันได จะรับดอกไม้จากประชาชนเพื่อนำไปนมัสการรอยพระพุทธบาท หลังจากนั้นก็จะเดินลงมา ตลอดทางจะมีชาวบ้านนำขันน้ำลอยด้วยดอก พิกุล คอยอยู่ตามขั้นบันไดเพื่อล้างเท้าให้ ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการ ชำระบาปที่ได้กระทำมาให้หมดสิ้นไป

วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2552


ประเพณีสงกรานต์
วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ถือกันว่าเป็นระยะที่ระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ตามปรกติก็อยู่ในระหว่างวันที่ 10 ถึงวันที่ 18 เมษายน ของทุก ๆ ปี แต่เท่าที่ปฏิบัติมาแล้วการกำหนดวันสงกรานต์ ถือเอาวันที่ 13 เมษายน เป็นวันตั้งต้น ตามคติของพราหมณ์กล่าวว่าวันสงกรานต์ เป็นวันแห่เศียรท้าวกบิลพรหมของนางสงกรานต์ทั้ง 7 ซึ่งเป็นธิดา ของทางกบิลพรหม ผู้แพ้การ แก้ปัญหาต่อธรรมบาลกุมาร จนต้องถูกตัดเศียรของตนเป็นเครื่องบูชาธรรมบาลกุมาร การแห่เศียรนี้ต้องมีทุก ๆ ปี โดยธิดาทั้ง 7 ผลัดเปลี่ยนกันออกมาเป็นผู้ถือพานรองเศียรนั้น การทำบุญในวันสงกรานต์ กล่าวโดยย่อมีดังนี้1. ทำบุญตักบาตร ถวายอาหารแด่พระสงฆ์2. บังสุกุลกระดูกบรรพบุรุษ3. รดน้ำท่านผู้หลักผู้ใหญ่นอกจากนี้ถือกันว่าในระหว่างวันสงกรานต์ ซึ่งอย่างน้อย 3 วัน และอย่างมาก 5-7 วันนั้น นับเป็นวันหยุดพักผ่อนประจำปี ชาวบ้านส่วนมากหยุดทำการงาน และหยุดการทำบาปตลอดจนการใช้แรงงานสัตว์ ต่างพากันออกหาความเพลิดเพลินด้วยการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ ตามประเพณีที่มีอยู่เป็นท้องถิ่น ๆ ไป

วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2552

พิธีทำบุญวันตรุษ
การทำบุญวันตรุษ เป็นพิธีโบราณพิธีหนึ่ง ที่ยังมีคนยึดถือทำกันเป็นประเพณีประจำปีตลอดมา คำว่า “ตรุษ” แปลว่า “ความยินดี” การทำบุญตรุษจึงเป็นการทำบุญเพื่อแสดงความยินดีที่เรามีชีวิตยั่งยืนมาได้รอบหนึ่ง เป็นการเตือนให้รำลึกถึงตัวของเราเอง ไม่มัวเมาประมาท แต่โดยอีกความหมายหนึ่ง ตรุษแปลว่าขาด หรือตัด อันมีความหมายว่าปีเก่าขาดตอนไปแล้ว ปีใหม่จะเข้ามาแทนที่ ซึ่งก็ได้ความหมายเป็นการเตือนให้นึกถึงเวลาที่ล่วงไปแล้ว การทำบุญวันตรุษ จึงเป็นการทำบุญเพื่อตัวเองโดยแท้ วันตรุษตรงกับวันแรม 14-15 ค่ำ เดือน 4 และวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 รวมเวลา 3 วัน วันแรม 14-15 ค่ำ เดือน 4 นั้น เรียกว่าวันสิ้นปี ส่วนวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 นั้น เรียกว่าเป็นวันเถลิงศก โบราณถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ในทางจันทรคติ การทำบุญนั้นวันแรกเป็นวันตระเตรียมข้าวของและทำขนมต่าง ๆ เรียกว่าวันจ่าย ส่วนวันที่สองที่สามเป็นวันทำบุญตักบาตร และหยุดงานพักผ่อน นอกจากนั้นยังอาจจะมีการละเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ ในโอกาสเช่นนี้
พิธีทำบุญลอยกระทง
ประเพณีลอยกระทงนั้นมีมาแต่สมัยโบราณครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี นิยมทำกันในวันเพ็ญเดือน 11 หรือวันเพ็ญเดือน 12 ผู้ที่จะประกอบพิธีลอยกระทงนั้น ก็มีการเตรียมทำกระทงเป็นรูปต่าง ๆ ให้ลอยน้ำได้ มีธูปเทียนและดอกไม้ปักอยู่ข้างใน เมื่อถึงกำหนดการทำพิธีลอยกระทง ซึ่งส่วนมากเป็นเวลากลางคืน ก็นำกระทงนั้นไปลอยลงในแม่น้ำลำคลอง หรือในสระใหญ่ก็ได้ โดยถือว่าเป็นการลอยกระทง เพื่อการบูชาพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ในขณะที่ประกอบการลอยกระทงนั้น มีคาถากล่าวดังนี้ “ข้าพเจ้าขอน้อมบูชารอยพระบาทของสมเด็จพระพุทธเข้า อันประดิษฐานอยู่ ณ หาดทรายแห่งแม่น้ำ นัมมุทาโพ้นด้วยประทีปนี้ ขอให้การบูชารอยพระบาทด้วยดวงประทีปนี้จงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุขแก่ข้าพเจ้า จนสิ้นกาลนานเทอญ” การแต่งกายในวันลอยกระทงนั้น แต่งด้วยเครื่องแต่งกายเรียบ ๆ ไม่ใช้สีฉูดฉาด หรือจะแต่งตามประเพณีนิยมก็ได้ และหลังจากวันที่ได้ทำพิธีลอยกระทงนั้นแล้ว มักถือเป็นวันหยุดการทำบาปทั้งปวง เพื่ออุทิศกุศลให้เกิดแก่ตนเองอีกทางหนึ่งด้วย


วันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2552


งานแห่เทียน

งานแห่เทียนพรรษาเป็นประเพณีปฏิบัติของชาวพุทธ ที่ได้กระทำมาแต่ครั้งพุทธกาล เหตุที่ทำให้เกิดประเพณีเพราะสมัยก่อน มีภิกษุได้เดินไปเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของชาวบ้านทำให้ได้รับความเดือดร้อน ดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้อนุญาติให้ภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษาที่วัดเป็นเวลา 3 เดือนคือในช่วงวันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปด ถึงวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือน 11 ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดการเก็บเกี่ยวของชาวบ้านพอดีในช่วงเข้าพรรษานี้ประชาชนจะนำเทียนไปถวายพระภิกษุเพราะเชื่อว่าจะทำให้ตนเฮลียวแลาดมีไหวพริบปฏิภาณประดุจขี้ผึ้งที่ใช้ทำเทียนที่ได้จากรังผึ้ง
ส่วนความเป็นมาของเทศกาลแห่เทียนของชาวเมืองอุบลนั้น แต่ก่อนไม่ได้แห่เทียนเหมือนในปัจจุบัน แต่จะทำการฟั่นเทียน ยาวรอบศีรษะไปถวายพระเพื่อจุดบูชาในช่วงจำพรรษา นอกจากเทียนแล้วยังมีน้ำมัน เครื่องไทยทาน และผ้าอาบน้ำฝนพอมาถึงสมัยกรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองอุบล ครั้งหนึ่งได้มีการแห่บั้งไฟและได้เกิดเรื่องมีการตีกันทำให้มีคนเสียชีวิต จึงทำให้ถูกเลิกการแห่บั้งไฟ และได้เปลี่ยนมาเป็นการแห่เทียนแทน
การแห่เทียนในยุคแรกๆชาวบ้านจะร่วมบริจาคเทียน แล้วนำเทียนมามัดติดกับลำไม้ไผ่ติดกระดาษเงินสีทองตัดลายฟันปลามาติดปิดรอยต่อ เสร็จแล้วนำต้นเทียนมัดติดกับปิ๊บน้ำมันก๊าด โดยใช้เกวียนหรือล้อเลื่อนลากจูง และมีขบวนฟ้อนรำด้วยต่อมาได้มีการหล่อดอกจากผ้าพิมพ์แล้วมีการประยุกต์ประดับฐานต้นเทียนด้วยรูปแกะสลักสัตว์ ลายไม้ฉลุทำให้ต้นเทียนดูสวยงามมากยิ่งขึ้น หลังจากนั้นประชาชนก็เห็นความสำคัญประเพณีแห่เทียนมากขึ้น จังหวัดก็ได้ส่งเสริมให้เป็นงานประจำปีในช่วงนั้นมีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือ ประเภทมัดเทียนรวมกันแล้วติดกระดาษสี กับประเภทพิมพ์ลายติดลำต้น การทำต้นเทียนก็ได้มีการพัฒนามาเรื่อยๆ จนมาถึงการแกะสลักลงบนต้นเทียนโดยตรง ซึ่งเป็นการแกะที่ต้องอาศัยฝีมือเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาประเพณีแห่เทียนพรรษาจึงได้จดการประกวด3 ประเภท โดยเพิ่มประเภทแกะสลักลงบนต้นเทียนลงไป
งานประเพณีแห่เทียนพรรษาได้รับการส่งเสริมจากทางจังหวัดมากขึ้น จนทำให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสนับสนุนให้เป็นงานประเพณีระดับชาติ ทำให้งานแห่เทียนพรรษาเมืองอุบลเป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ เดินทางมาเที่ยวกันมากมาย